ความ(สิ้น)หวังสุดท้ายของคนเลี้ยงมดกับนางพญา Atta 3 ตัวที่เหลือ

ความ(สิ้น)หวังสุดท้ายของคนเลี้ยงมดกับนางพญา Atta 3 ตัวที่เหลือ

ตอนนี้ผมเหลือ Atta เพียงแค่ 3 ตัวเท่านั้นจากทั้งหมดที่ซื้อมากว่า 20 ตัว Atta เป็นมด Leaf cutter สายพันธุ์ใหญ่ที่มีอัตราการรอดชีวิตของนางพญาต่ำมากๆ แล้วยังมีความยากของการเลี้ยงเชื้่อราให้รอดเข้ามาเกี่ยวข้องอีก

สิ่งที่เป็นปัญหาหลักๆกับรังในตอนนี้คือ นางพญามดชอบแทะเชื้อราไปทิ้ง ด้วยเหตุผลอะไรสักอย่าง ช่วงเริ่มต้นในตอนแรกเชื้อราดีมากๆ เพราะไปขโมยเชื้อรามาจากรัง Acronomyremex(รัง Leaf cutter อีกชนิดที่ผมมี) มาให้ ซึ่งมารู้ตอนหลังว่าเชื้อราของมดทั้งสองชนิดนี้สามารถใช้แทนกันได้ เริ่มต้นเชื้อรามาดีๆ พอผ่านไปสัก 1 อาทิตย์เอาอีกละ ค่อยๆแทะเชื้อราไปทิ้งทีละนิดทีละนิด จนเหลือแค่ตรงกลางหน่อยนึงที่มีไข่มดอยู่ด้านบนนั่นแหละ ทั้งๆที่นางพญามดชนิดนี้สามารถขยายเชื้อราด้วยตนเองได้ ไม่ต้องไปตัดใบไม้มาทำเชื้อรา ด้วยการถ่ายของเหลวสีน้ำตาลดำนำมาแปะๆก้อนเชื้อราให้เชื้อราเกาะ แต่มันกลับไม่ยอมทำ

โอกาสเดียวของนางพญามดทั้ง 3 ตัวนี้ที่จะสร้างเนื้อสร้างตัวเป็นรังได้คือ “ต้องมีมดงานเกิดขึ้นให้ได้” เพื่อที่มดงานจะได้สร้างเชื้อราต่อไปเรื่อยๆ แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือแทะเชื้อราทิ้งแล้วติดไข่ไปด้วย ตอนนี้ผมเลยหาวิธีแก้ปัญหาคือขโมยเชื้อราก้อนใหม่มาใส่ให้มันเรื่อยๆทุกอาทิตย์จนกว่าไข่มดจะสามารถพัฒนาเป็นตัวอ่อนและพัฒนาเป็นตัวมดได้ตามลำดับ

จากภาพเชื้อราก้อนใหญ่ๆด้านซ้ายขวาคือเชื้อราที่ผมไปขโมยมาใส่ให้ใหม่ ทันทีที่ผมใส่เชื้อราใหม่ลงไป นางพญามดจะเริ่มทำการสำรวจพร้อมขับถ่ายของเหลวสีน้ำตาลใส่ก้อนเชื้อรา ก่อนที่จะนำไข่ทั้งหมดที่อยู่บนเชื้อราก้อนเก่าเล็กๆใต้ไข่ ไปไว้บนเชื้อราก้อนใหม่ แล้วนำเชื้อราก้อนเก่าไปทิ้ง

โชคร้ายไปนิดระหว่างเคลื่อนย้ายไข่ไปสู่เชื้อราใหม่ มีกลุ่มไข่กลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่ง โดนนางพญามดถ่ายของเหลวสีน้ำตาลใส่ ทำให้ไข่กลุ่มนั้นน่าจะเสียไปเลย

ตอนนี้ก็ต้องมานั่งลุ้นว่าเมื่อไหร่ไข่ที่เหลือจะสามารถพัฒนาเป็นตัวอ่อนมดได้ คิดว่าน่าจะไม่เกิน 1 เดือนต่อจากวันนี้ เป็นมดที่เลี้ยงยากและเรื่องมากที่สุดตั่งแต่ผมเคยเลี้ยงมดมาละ หาข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงเริ่มต้นก็ยาก กว่าจะพอจับจุดได้ก็ตายไปแทบจะหมดอยู่ละ เซงเลย

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart

ไม่มีสินค้าในตะกร้า