ANT 101 สิ่งที่ควรรู้ก่อนเริ่มเลี้ยงมด

ANT 101 สิ่งที่ควรรู้ก่อนเริ่มเลี้ยงมด

Ant 101

สำหรับมือใหม่ที่อยากเลี้ยงมดถ้าถามว่ามดอะไรเลี้ยงง่ายสุดผมคิดว่าคงเป็น มดตะลาน เหตุผลคือมดตะลานส่วนใหญ่เป็นมดที่ตัวใหญ่ มีขนาดหลากหลาย มีมดทหาร เลี้ยงดูง่าย อดทน ไม่ค่อยเรื่องมาก การเจริญเติบโต ไม่เร็วไม่ช้าเกินไป และ หาได้ทั่วๆไป

1. นางพญามดมี 2 ประเภท หลักๆคือ Fully-Claustral และ Semi-Claustral วิธีแยกนางพญาทั้ง 2 ประเภทแบบคร่าวๆให้ดูที่ตูด ถ้าตูดใหญ่ๆหัวเล็กๆคือพวก Fully ถ้าตูดเล็กๆแฟบๆตัวเรียวๆคือพวก Semi

1.1 Fully-Claustral นั้นไม่ต้องการอาหารในช่วงที่สร้างรัง(หลังจากจับนางพญา ที่เพิ่งออกบินหารัง)โดนสามารถอยู่ได้โดยที่ไม่กินอะไรเลยเป็นเดือนจนกว่าจะมีมดงานตัวแรกเกิดขึ้นมา(มดงานจะหาอาหารไปป้อนนางพญา)เพราะนางพญามีอาหารสะสมมาไว้ก่อนแล้วในตูดของมันรวมถึงสามารถสร้างอาหารด้วยตัวเอง(เดี๋ยวมาเขียนต่อ) เช่น นางพญา มดตะลาน, มดคันไฟ, มดง่าม, มดที่ตูดเป็นรูปหัวใจ (Crematogaster), มดส้ม(ที่กินไข่มดแดง), มดน้ำผึ้ง

นางพญามดประเภทนี้หลังจากเราจับมาแล้วให้เอาใส่ไว้ในหลอดทดลองทิ้งเอาไว้ในห้องมืดรบกวนให้น้อยที่สุดนางพญาจะวางไข่และนำอาหารสะสมมาเลี้ยงตัวอ่อนเองโดยที่เราไม่ต้องไปทำอะไรเลยจนกว่าจะมีมดตัวแรกออกมาจากดักแด้

ในกรณีที่นางพญาดูผอมสามารถให้น้ำหวานนางพญากินก่อนจะนำใส่หลอดทดลองเพื่อให้นางพญามีอาหารสะสมไว้เลี้ยงตัวอ่อนเพิ่มมากขึ้น แต่ถ้านางพญาอ้วนอยู่แล้วไม่ควรยุ่งหรือทำอะไรกับมันเลย เพราะตามธรรมชาตินางพญามด fully จะขังตัวเองเอาไว้ใต้ดินหรือในขอนไม้รอจนกระทั่งมีมดงานแล้วมดงานออกไปหาอาหารให้และการที่เรารบกวนมันอาจจะทำให้นางพญารู้สึกไม่ปลอดภัยและกินไข่ตัวเองได้ (อันนี้เจอมากับตัว เปิดกล่องจะให้อาหาร แล้วนางพญา semi ตกใจหันไปจับไข่ตัวเองขึ้นมากินหมดเลย)

1.2 Semi-Claustral นางพญามดที่ไม่มีอาหารสำรองติดมาด้วยตอนบินออกจากรัง มดพวกนี้ต้องการอาหารและ น้ำหวานในช่วงที่สร้างรัง(ก่อนออกไข่-หลังออกไข่-ระยะดูแลตัวอ่อน-หลังมีมดงาน)เช่นนางพญามดเขี้ยวโง้ง, มดกระโดด, มดตะนอย

นางพญามดประเภทนี้ หลังจากที่จับนางพญาได้แล้ว ต้องคอยให้อาหารและน้ำหวานด้วย 3-4 วันครั้ง โดยนางพญามดชนิดนี้ต้องทำ Outworld ไว้ให้นางพญาออกมาเดินหาอาหาร โดยการใส่หลอดทดลองลงไปในกล่องอคิลิคอีกทีหนึ่งตามภาพด้านบน มีนางพญามดเพียงไม่กี่ชนิด ที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ เพราะฉนั้น หลังจากจับนางพญามดได้มา ควรแยก 1 ตัว ต่อ 1 หลอดทดลอง

2. อาหารของมด มดต้องการอาหารหลากหลายไม่ควรให้อาหารมดชนิดเดียวซ้ำๆซากๆ มดต้องการอาหารหลักๆ 2 อย่างคือโปรตีนและน้ำตาล มดมีกระเพาะ 2 อย่างคือกระเพาะของตัวมดเองและกระเพาะ social

กระเพาะ social เป็น กระเพาะที่มดเก็บอาหารไว้แต่สามารถแบ่งอาหารที่เก็บไว้ให้กับมดตัวอื่นๆหรือตัวอ่อนได้ผ่านทางปาก เพราะงั้นไม่ต้องตกใจถ้ามีมดแค่ไม่กี่ตัวออกมากินอาหารเพราะมดที่ออกมากินอาหารจะนำอาหารไปแบ่งมดตัวอื่นๆเอง

2.1 โปรตีน คือสารอาหารที่นางพญามดกินเพื่อสร้างไข่และมดงานนำไปป้อนให้หนอนตัวอ่อนกินเพื่อพัฒนาเติบโตจนเข้าดักแด้ ถ้าเราให้โปรตีนน้อยนางพญาจะออกไข่น้อยรวมไปถึงหนอนตัวอ่อนจะพัฒนาเติบโตได้ไม่เต็มที่ออกมาเป็นมดงานตัวเล็กเหมือนเช่นมดชุดแรกของพวกนางพญา Fully-Claustra มดชุดแรกของนางพญาจะมีน้อยอาจจะ ไม่เกิน 10 ตัวหรืออาจจะเยอะกว่า 10 แล้วแต่สายพันธุ์เรียกว่า Nanitic เป็นมดงานที่ออกมาในชุดแรกตัวจะเล็ก เนื่องจากนางพญามดไม่ได้มีโปรตีนจากภายนอกป้อนให้ตัวอ่อนชุดแรก

โปรตีน เช่น พวกแมลงทั้งหลาย จิ้งหรีด หนอนนก แมงมุม หรือ เนื้อไก่ ถ้าจับแมลงมาจากธรรมชาติมาให้มดควรจะเอาแช่ฟรีสไว้ก่อนสักระยะหนึ่ง เพราะแมลงเหล่านั้นอาจเป็นพาหะนำเชื้อหรือปอรสิตต่างๆมาติดมดเราได้(จากประสบการณ์ เอาจิ้งหรีดที่จับจากนอกบ้านให้มดกินผ่านไป 1 วันจิ้งหรีดตัวนั้นมีหนอนสีขาวไต่เต็มไปหมด) (กับจิ้งหรีดอีกตัวอยู่ดีๆมีแมลงบินออกมา)

ไม่ควรให้อาหารมดเยอะจนเกินไป มือใหม่ส่วนใหญ่คิดว่ายิ่งให้อาหารมดเยอะยิ่งดีโดยไม่ทันคิดว่ามดมีขนาดตัวเล็กนิดเดียวไม่สามารถกินอาหารได้เยอะขนาดนั้น ยิ่งในรังขนาดเล็กยิ่งไม่ควรให้เยอะจนเกินไปเพราะมดจะนำอาหารที่เหลือไปเก็บเอาไว้ในรังหรืออาจจะไปแปะไว้ตรงสำลีทำให้เชื้อราขึ้นซึ่งไม่เป็นผลดีแน่นอน

**  มดรังเล็กๆขนาดของมดงานไม่เกิน 10-20 ตัว ให้อาหารโปรตีนแค่อาทิตย์ละ 1 ครั้งก็พอแล้ว แล้วค่อยเพิ่มจำนวน อาหารและความถี่ตามจำนวนของ มดงาน และ ตัวอ่อน

2.2 น้ำตาล คือ สารอาหารที่กินเพื่อเป็นพลังงานเช่น น้ำผึ้งผสมน้ำ น้ำเฮลบลูบอยผสมน้ำหรือจากผลไม้ต่างๆ(ควรเป็นผลไม้ออกานิก ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง) เช่น แอปเปิ้ล โดยปลอกเปลือกออกป้องกันสารเคมีที่อาจติดมากับเปลือก

** ช่วงแรกๆให้น้ำหวานมดอาทิตย์ละ 3 ครั้งก็พออาจจะให้บ่อยขึ้น 2 วันครั้งเมื่อมดมีจำนวนมากขึ้น

2.3 น้ำ มดสามารถรับน้ำได้จากน้ำหวานหรืออาหารที่เราให้แต่เราสามารถตั้งน้ำทิ้งไว้ให้มดดื่มโดยเฉพาะได้เหมือนกันโดยเฉพาะมดรังใหญ่ๆ

3. ที่อยู่อาศัยของมด หรือรังควรเป็นพื้นที่ที่ทำให้มดรู้สึกปลอดภัย รังควรจะมีความชุ่มชื้นเพราะตัวอ่อนของมดต้องการความชื้น

มีมดไม่กี่ชนิดที่ไม่ต้องการความชุ่มชื้นในรังเช่นมดตะนอย แต่มดส่วนใหญ่แล้วต้องการความชุ่มชื้นในรังทั้งนั้น (ความชื้นในรังไม่ได้หมายความว่าน้ำนองแต่หมายถึงความชื้นในอากาศ)

** การที่ความชื้นมากเกินไปหรือน้อยเกินไปจะทำให้ตัวอ่อนมดตาย

รัง “เริ่มต้น” ของมด ที่ใช้ได้ดีราคาถูกใช้โดยคนเลี้ยงมดทั่วโลกคือหลอดทดลองโดยใส่น้ำลงไป 1 ส่วน 3 ของหลอดทดลองแล้วใช้สำลีดันอุดลงไปให้ปลายสำลีน้ำซึมนิดๆและใช้สำลีปิดตรงส่วนปากหลอดทดลองเอาไว้ อากาศที่ผ่านทางสำลี มีพอเพียงสำหรับมดที่จะใช้หายใจ(ดูรูปภาพประกอบ)

การที่เราเหลือพื้นที่ไว้ให้มด 2 ส่วนเนื่องจากมดแต่ละชนิดต้องการความชื้นไม่เท่ากัน มดที่ต้องการความชื้นมากจะ ตั้งรังและตัวอ่อนไว้ใกล้ๆกับสำลีฝั่งเปียกน้ำ ส่วนมดบางชนิดที่ต้องการความชื้นน้อยลงมาจะตั้งรังและตัวอ่อนขเยิบออกมาด้านสำลีแห้ง

มดที่อยู่ในหลอดทดลองนี้นานๆ ตรงสำลีส่วนเปียกจะมีสีเหลืองหรือสีน้ำตาลไม่ต้องตกใจนั้นคือของเสียของมดที่มดขับถ่ายออกมา(ขี้หรือเยี่ยว) ให้เปลี่ยนหลอดทดลอง สำลี น้ำ ให้มดใหม่เมื่อเห็นว่าสำลีฝั่งเปียกสกปรกมากดำๆหรือน้ำมีสีเหลืองอย่างเห็นได้ชัด เช็คสำลีฝั่งเปียกให้ดีๆ ควรจะให้สำลีแน่น เพื่อมดจะไม่สามารถดึงหลุดได้ เพราะจะทำให้เกิดน้ำท่วม

** ไม่ควรให้ฝั่งเปียกแห้ง

4. Outworld หรือ พื้นที่สำหรับหาอาหารของ มด พื้นที่หาอาหารของมดนั้นมีประโยชน์มากๆทำให้เวลาเราให้อาหารเราไม่ต้องรบกวนมดมากไม่ทำให้ส่วนรังของมดนั้นสกปรกและมดยังใช้พื้นที่ Outworld นี้ในการนำขยะต่างๆออกมากองทิ้ง

5. อุณหภูมิที่เหมาะสมในการเลี้ยงมด มีหลักการง่ายๆคืออากาศที่อบอุ่นจะทำให้มดเติบโตไว อากาศที่หนาวจะทำให้มดหยุดการเจริญเติมโตหรือเติบโตช้า อากาศที่ร้อนเกินไปจะทำให้มดตาย

จะสังเกตุยังไง ว่านางพญาผสมพันธุ์แล้ว หรือ ยังไม่ผสมพันธุ์

นางพญามดแทบทุกตัวถ้าผสมพันธุ์แล้วจะสลัดปีกทิ้งและวางไข่หลังจากเจอที่ที่มันจะใช้ทำรัง แต่ก็มีนางพญามดบางตัวเหมือนกันที่ผสมพันธุ์แล้ววางไข่แต่ไม่ยอมสลัดปีก จนกระทั้งมีมดงานเป็น 100 ตัวก็ยังเก็บปีกไว้ นางพญาบางตัววางไข่เลี้ยงดูลูกจนกลายเป็นตัวแต่ลูกที่ออกมากลายเป็นมดตัวผู้ซึ่งแปลว่านางพญาตัวนี้ยังไม่ได้ผสมพันธุ์และไม่ได้ตั้งท้อง

วิธีที่ดีที่สุดคือเฝ้ารอจนกระทั้งนางพญาวางไข่และไข่พัฒนาออกมาเป็นมดงานจริงๆ นางพญาที่เก็บมาจากที่เดียวกัน เวลาเดียวกัน ชนิดเดียว รังเดียวกัน ส่วนใหญ่จะออกไข่และพัฒนาการไล่เลี่ยกัน นางพญาส่วนใหญ่จะวางไข่หลังจากทิ้งไว้ในห้องมืดที่เงียบสงบไม่มีการรบกวนไม่เกิน 1-2 อาทิตย์ บางที 2 วันก็ไข่แล้ว

 

 

 

 

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart

ไม่มีสินค้าในตะกร้า