วิธีการใช้งาน Starter kit และการเลี้ยงมดเบื้องต้น

วิธีการใช้งาน Starter kit และการเลี้ยงมดเบื้องต้น

วิธีการใช้งาน Starter kit และการเลี้ยงมดเบื้องต้น

นี่คือรังมดเริ่มต้นที่เราออกแบบขึ้นมา เราใช้เวลาในการทดลองหลากหลายรูปแบบ ทดสอบในการใช้เลี้ยงมดจริงๆ และพัฒนาเพื่อให้มันออกมาดีที่สุด เป็นระยะเวลา 2 ปีจนมั่นใจว่าสินค้าของเรานั้นดีจริง สามารถเลี้ยงมดให้เจริญเติบโตได้ดี มีความง่ายในการใช้งาน วันนี้เราจึงกล้าที่จะนำสินค้าออกมาขายเป็นผลิตภัณฑ์ของเราเอง ซึ่งเรามั่นใจว่าสินค้าของเรานั้นไม่ได้เป็นสินค้าที่ดีที่สุด เพราะไม่มีรังมดรังไหนดีที่สุดแน่นอน แต่สินค้าของเรานั้นดีแน่นอน ถ้าผู้เลี้ยง เลี้ยงมดและใช้งานสินค้าของเราอย่างถูกต้องและเหมาะสม ทำตามที่เราแนะนำ เรารับประกันความพึงพอใจและยินดีคืนเงินเต็มจำนวน ไม่มีงอแงอย่างแน่นอน

เนื่องจากสินค้าทุกชิ้นเป็นงานที่ทำมือทั้งหมด จึงอาจจะมีริ้วรอยหรือความไม่เพอร์เฟคอยู่บ้าง ซึ่งเราก็จะพยายามทำมันออกมาให้ดีที่สุด รังมดที่ทุกท่านเห็นนี้สามารถใช้เลี้ยงมดได้หลายเดือนจนมีมดงาน 50 ตัวขึ้นได้ ซึ่งระยะเวลาขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยตามที่ท่านจะได้อ่านในหัวข้อถัดไปด้านล่าง

หลังจากได้สินค้า ไม่ต้องเติมน้ำในหลอดทรายด้านหลังเนื่องจากเราเติมให้ท่านเรียบร้อยแล้ว ให้รอน้ำแห้งๆแล้วค่อยเติม ให้ท่านแกะสำลีออกจากหลอดและวางหลอดทดลองให้เข้ากับล็อคในกล่อง หลังจากเอาสำลีออกแล้วอาจจะมีมดเดินสำรวจตามที่ต่างๆรวมถึงบนฝากล่อง เป็นเรื่องปกติ สามารถให้น้ำหวานมดได้เลย หลังจากมดสำรวจเสร็จแล้ว ทุกอย่างลงตัวแล้ว มดจะอาศัยอยู่ในหลอดทดลองเป็นหลัก อาจจะมีทรายเกาะตามผิวแก้วบ้างเนื่องจากความชื้นในหลอดและการกลิ้งไปมาระหว่างขนส่ง ให้ใช้ไม้ขาวๆพันทิชชู่ค่อยๆเช็ดทรายภายในหลอดออก ระวังอย่าทับมด 

 

 

1.หลอดรังมด เป็นหลอดทดลองมีขาอยู่ตรงท้ายหลอดเพื่อเติมน้ำ ตรงท้ายหลอดมีทรายใส่เอาไว้เพื่อให้อุ้มน้ำไว้ทำความชื้นสู่ภายในหลอด ภายในหลอดเป็นปูนปูพื้นหลอด มีทรายเป็นพื้นผิวด้านบนเพื่อให้มดรู้สึกเหมือนอยู่ในธรรมชาติมากกว่าหลอดทดลองเปลือยๆ มดบางชนิดที่ต้องใช้ดินหรือทรายในการเข้าดักแด้ยังสามารถใช้ประโยชน์จากทรายนี้ในการปั่นตัวเองเข้าดักแด้อีกด้วย หลักการทำงานของรังหลอดปูนนี้คือทรายจะอุ้มน้ำเอาไว้และค่อยๆปล่อยความชื้นผ่านทางผนังปูนเข้าสู่ภายในรัง ทำให้ในรังมีความชื้นเหมาะสมแก่การใช้เป็นรังมด ปูนในรังใช้ปูนอย่างดีมีความแข็งแรงและไม่ขึ้นเชื้อราบนตัวปูนเอง (อ่านข้อควรระวังด้านล่าง)

หลอดรังมดนี้ทำหน้าที่เสมือนรังใต้ดินของมดในธรรมชาติ เป็นสถานที่สำหรับมดในการอยู่อาศัย นางพญามด ไข่ ตัวอ่อนและดักแด้ มักจะอาศัยอยู่ภายในหลอดปูนนี้เป็นหลัก

 

   

 

2.Outworld หรือ พื้นที่หาอาหาร, ทิ้งขยะของมด มดจะใช้พื้นที่ในส่วนนี้ไว้เดินหาอาหารและนำขยะต่างๆออกมาทิ้ง ส่วนมากมดจะนำขยะไปทิ้งตรงมุมใดมุมหนึ่งของกล่อง บน Outworld นี้มีร่องไว้สำหรับวางหลอดปูนเพื่อไม่ให้หลอดเคลื่อนไหวไปมา เราใช้ปูนอย่างดีมีความแข็งแรง ไม่ขึ้นเชื้อราด้วยตัวมันเอง แต่มีโอกาสที่จะขึ้นเชื้อราได้จากปัจจัยอื่นๆ (อ่านข้อควรระวังด้านล่าง)

Outworld นี้เปรียบได้เหมือนพื้นที่เดินหาอาหารนอกรังของมดในธรรมชาติ อย่างเช่นพื้นที่บนผิวดิน ควรจะเป็นพื้นที่แห้ง ไม่ชื้น

 

             

 

รูตาข่ายระบายอากาศบนฝาเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่เกิดความอับชื้นด้านในมากเกินไป ตะข่ายนี้มีความถี่มากพอที่จะป้องกันไม่ให้มดชนิดอื่นๆเช่นมดละเอียดหรือมดเหม็นบุกลงไปโจมตีมดที่เราเลี้ยงเอาไว้

 

รอบๆขอบด้านในของรัง เราไม่ได้ทาสารลื่นเพื่อกันมดปีนหนีออกจากรังไว้ให้ก่อนส่งถึงคุณ เนื่องจากเรามองว่ามดงานยังมีจำนวนน้อย ผู้เลี้ยงยังสามารถควบคุมมดได้ เมื่อมดอิ่มมดมักจะอาศัยอยู่ในหลอดทดลองเป็นหลัก จึงมองว่ายังไม่จำเป็นที่จะต้องทาสารกันลื่นในตอนนี้ เพราะทาไปสุดท้ายสารก็จะเสื่อมและต้องทาใหม่อยู่ดี สกปรกปล่าวๆ ไว้รอมดเยอะๆจนไม่สามารถให้อาหารง่ายๆได้แล้วค่อยไปหาซื้อมาทาเอา

 

อุปกรณ์ที่มาพร้อมกับชุด Starter Kit

 

 

1.หลอดฉีดยา สามารถใช้หลอดฉีดยานี้ในการเติมน้ำเข้าไปในท้ายหลอดเมื่อเห็นว่าทรายเริ่มจะแห้ง เพื่อป้องกันการเกิดน้ำเน่าจากจุลินทรีย์ที่มากับน้ำไม่สะอาดควรใช้น้ำดื่มเปิดขวดใหม่ในการเติมน้ำในหลอดเท่านั้น ดึงจุกดำออก อย่าดึงแรงเดี๋ยวจุกแตก ค่อยๆดึงจุกขึ้นอย่าโยกซ้ายขวา กดปลายเข็มฉีดยาให้ทิ่มลงไปถึงก้นหลอด เติมน้ำลงไปจนแค่ท่วมทรายเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องเติมน้ำจนล้นทรายออกมา ในกรณีที่ใส่น้ำเยอะจนเกินไป ค่อยๆดูดน้ำออกจากพื้นผิวด้านบนโดยไม่ให้สัมผัสทรายด้านล่าง เพราะทรายจะอุดตันในเข็มหลอดฉีดยาจนไม่สามารถใช้งานได้(สามารถเอากรรไกรตัดปลายเข็มหลอดฉีดยาออกและใช้งานต่อได้ในกรณีที่ทรายติดเข้าไปไม่ลึก) เมื่อเติมเสร็จแล้วให้บีบจุกเอาไว้ไล่ลมออก แล้วจึงค่อยๆปิดลงไปตามรูปด้านล่าง เพื่อไม่ให้มีอากาศด้านในจุกยางดำจนเกิดแรงดันด้านใน

ควรเติมน้ำในหลอดนี้เมื่อเห็นว่าทรายดูแห้งแล้วเท่านั้น ไม่ต้องรีบเติมใจเย็นๆ ถึงแม้จะดูเหมือนไม่ชื้นมาก แต่ความจริงแล้วทั้งทรายและปูนอุ้มความชื้นอยู่ ความชื้นยังอยู่ในหลอดได้อีกนาน

 

2.ไม้เกี่ยว เราออกแบบรังหลอดปูนให้มีทางเข้ารังขนาดใหญ่เพื่อง่ายต่อการทำความสะอาดในกรณีที่มดนำอาหารเข้าไปกินภายในรังแล้วไม่ยอมนำออกมาทิ้งนอกรังจนอาจจะเกิดเชื้อราขึ้นภายในรังได้ สามารถนำสำลีมาอุดรูรังเอาไว้เพื่อไม่ให้มดหนีออกมา แล้วค่อยๆนำไม้เกี่ยวนี้แหย่เข้าไปเกี่ยวซากอาหารของมดออกมาทิ้ง

3.พู่กัน สามารถใช้ในการกวาดเศษขยะต่างๆของมดไปไว้ในมุมใดมุมหนึ่งเพื่อง่ายต่อการทำความสะอาดหรือใช้ที่หนีบในเลขที่ 4 หนีบออกมา ในกรณีที่มีมดงานหลายตัว ก่อนจะทำความสะอาดขอแนะนำให้นำสำลีอุดปากรังไว้ก่อนเพื่อที่มดในรังจะได้ไม่แตกตื่นกันออกมาทำให้ยากต่อการทำความสะอาดรัง

 

4,5.ฟอร์เซฟและถาดให้อาหาร ฟอร์เซฟหรือที่คีบนี้สามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่างเช่น คีบอาหารใส่ในถาดอาหาร คีบขยะออกจากOutworld และอื่นๆ

ถาดอาหารมี 2 ถาด ถาดหนึ่งไว้ให้น้ำหวานผสมน้ำ อีกถาดไว้ให้โปรตีนเช่นแมลง หรือใช้ตามเห็นสมควร

 

 

อุปกรณ์ให้น้ำหวานสำหรับมด เป็นสิ่งที่ยังไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ในกรณีที่มีมดงานจำนวนน้อย ให้เก็บไว้ใช้ในตอนที่มีจำนวนมดงานมากๆอย่างเช่น 30 ตัว หรือในวันที่คนเลี้ยงไม่อยู่บ้านหลายวัน สามารถให้น้ำหวานทิ้งไว้ในอุปกรณ์น้ำหวานเหล่านี้ได้ ซึ่งมดจะเดินมากินเองเมื่อเค้าหิว น้ำหวานที่อยู่ในอุปกรณ์นี้จะมีอายุยืนได้นานระดับหนึ่งก่อนที่จะเสีย เนื่องจากน้ำหวานไม่ได้สัมผัสกับอากาศโดยตรง และสำคัญมากๆควรจะหาภาชนะมาวางรองเอาไว้อย่างเช่นฝาถ้วยน้ำ เนื่องจากเมื่อเวลาผ่านไปนานๆ น้ำหวานและน้ำอาจจะเกิดการแบ่งตัวกัน ทำให้น้ำหวานนั้นไหลออกมาจากรูได้

 

การดูแลมดและให้อาหารมด

     

จากประสบการณ์ที่เลี้ยงมดมานาน มดหลายๆชนิดเป็นสัตว์เลี้ยงที่ดูแลค่อนข้างง่ายแต่ให้ความเพลิดเพลินในการเลี้ยงเป็นอย่างมาก ขอเพียงผู้เลี้ยงมีความรับผิดชอบในการให้อาหารมดและนำขยะต่างๆไปทิ้ง จะสามารถเลี้ยงมดรอดเป็นระยะเวลาหลายปีอย่างแน่นอน

น้ำหวานคือพลังงานชีวิตของมด โปรตีนคือสร้างชีวิตใหม่ให้มด เช่น ให้นางพญามดออกไข่ ให้โปรตีนไปป้อนตัวอ่อน ทำให้มดงานตัวใหญ่ขึ้น การให้น้ำหวานมดอย่างเดียวจะทำให้มดมีชีวิตอยู่ได้เรื่อยๆโดยที่ไม่ตาย แต่จะทำให้ไม่มีมดงานใหม่เกิดขึ้นเนื่องจากไม่มีสารอาหารโปรตีนให้นางพญาออกไข่

จากข้อมูลนี้ทำให้ผู้เลี้ยงสามารถควบคุมจำนวนประชากรมดได้ การให้อาหารเยอะและถี่จะทำให้มีมดงานเกิดขึ้นมาก เนื่องจากนางพญามดอาจจะออกไข่เยอะขึ้น หนอนตัวอ่อนเติบโตไวขึ้น ทำให้มีมดงานเยอะไวขึ้น

การให้อาหารน้อยและไม่ถี่ จะทำให้มดโตช้า เพราะได้รับสารอาหารในจำนวนจำกัด เมื่อผู้เลี้ยงเลี้ยงไปจนถึงระดับหนึ่งแล้วอยากจะควบคุมจำนวนประชากรมดหรืออยากให้มดโตช้า สามารถทำได้ด้วยการให้น้ำหวาน แต่ให้โปรตีนน้อยลง และเว้นระยะการให้โปรตีนให้นานขึ้น

1.การให้อาหารน้ำหวาน แนะนำให้ใช้น้ำแดงเฮบลูบอยผสมน้ำกับน้ำครึ่งๆ(50/50) คนให้เข้ากันแล้วใช้หลอดดูดขึ้นมา ค่อยๆหยดลงใส่ไปในถาดให้อาหารหรือกระดาษฟรอย โดยเริ่มต้นมดงานยังไม่เยอะอาจจะให้แค่ 2-3 หยดเท่านั้น ต่อ 3-4 วัน เมื่อมดงานมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอาจจะให้น้ำหวานในจำนวนมากหยดขึ้นหรือถี่ขึ้น ซึ่งผู้เลี้ยงต้องหมั่นสังเกตุว่ามดที่เราเลี้ยงต้องการน้ำหวานมากน้อยเพียงไหน มดส่วนใหญ่จะกินน้ำหวานแล้วเก็บน้ำหวานไว้ในกระเพาะโซเชียลเราจึงไม่จำเป็นต้องให้น้ำหวานมดทุกวัน

2.การให้อาหารโปรตีน สามารถให้โปรตีนได้หลากหลายเช่นแมลงต่างๆ กุ้งฝอย เนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ และอื่นๆ โดยปกติแล้วโปรตีนควรจะให้ทุก 4-5 วันต่อครั้ง การให้โปรตีนจะทำให้นางพญาออกไข่เพิ่มมากขึ้นและมดที่เกิดใหม่มีขนาดตัวใหญ่ขึ้น เพราะมดงานจะนำโปรตีนไปป้อนให้แก่ตัวอ่อน ผู้เลี้ยงสามารถไปหาซื้อแมลงเช่น จิ้งหรีด, หนอนนก หรือ ไข่มดแดง จากตลาดขายของสดหรือตลาดจตุจักร แล้วนำมาแช่ช่องฟรีซเอาไว้ ในการให้อาหารแต่ละครั้งสำหรับมดรังเล็กๆ จิ้งหรีดครึ่งตัวต่อ 1 อาทิตย์ก็มากเพียงพอแล้ว

ในกรณีที่ให้แมลงต่างๆที่จับมาจากธรรมชาติเช่นแมงมุม ลูกแมลงสาบ สัตว์ตัวเล็กตัวน้อยเช่นลูกจิ้งจกควรจะแช่ฟรีซก่อนสัก 2-3 ชั่วโมง เพื่อป้องกันแมลงปรสิตต่างๆที่อาจจะติดมากับสัตว์ตามธรรมชาติได้

ในกรณีที่ให้แมลงอบแห้งเช่นหนอนแดงอบแห้งควรหยอดน้ำลงไปหน่อยนึงเพราะมดมักจะกินของเหลวเป็นอาหารมากกว่าของแห้ง ทั้งนี้ทั้งนั้นมดแต่ละชนิดชอบอาหารไม่เหมือนกัน บางชนิดอาจจะกินไข่ต้มหรือไก่ต้ม แต่บางชนิดเลือกที่จะกินแค่แมลงเท่านั้น

อาหารที่แนะนำคือพวกแมลง อย่างเช่น ยุง หนอนนก จิ้งหรีด อย่างผมก็ให้แต่หนอนนกตัวเล็กเป็นหลักอาทิตย์ละ 1-2 ตัวด้วยการเอากรรไกรตัดครึ่งให้หนอนนกตายก่อน มดจะกินของเหลวในตัวหนอนรวมไปถึงส่วนที่อ่อนนุ่ม ซึ่งสามารถทิ้งเอาไว้ให้มดแทะได้หลายวันจนกระทั่งเหลือแต่เปลือก มดจึงนำออกมาทิ้งไว้ในส่วนของ outworld ทำให้ง่ายต่อการทำความสะอาด และหนอนนกไม่ค่อยสกปรกสักเท่าไหร่

อาหารที่ไม่แนะนำคือไข่ต้ม ไข่แดง ถ้าให้ไข่แดงเป็นอาหาร มดมักจะแทะไข่แดงออกเป็นชิ้นเล็กๆเต็มไปหมด และนำไปเก็บไว้ในรังซึ่งมีความชื้นสูง แล้วสุดท้ายมดมักจะกินไม่หมด ทำให้เศษไข่แดงละลายซึมลงไปในพื้นปูน เกิดเป็นเชื้อราขึ้นในรังยากต่อการทำความสะอาด จึงสำคัญมากๆที่ไม่ควรจะให้อาหารมากเกินกว่าที่มดจะกินหมดในแต่ละรอบ 

การให้อาหารผู้เลี้ยงต้องหมั่นสังเกตุความต้องการอาหารของมดที่ตนเองเลี้ยง เพราะปริมาณอาหารที่มดแต่ละรังต้องการมักจะสอดคล้องกับจำนวนตัวอ่อนหรือมดงานในรังมด การให้อาหารเยอะจะทำให้มดเจริญเติบโตไว การให้อาหารน้อยจะทำให้มดเจริญเติบโตช้าหรือมดงานตัวเล็ก เมื่อมดอิ่มหรือได้รับอาหารเพียงพอมักจะยืนอยู่นิ่งๆกันในรังเป็นหลัก เมื่อมดหิวหรือต้องการอาหารจะมีมดจำนวนมากเดินอยู่นอกรังในพื้นที่ Outworld

สำคัญมากๆเมื่อเลี้ยงมดใหม่ๆ รังเล็กๆไม่ควรจะให้อาหารมดมากจนเกินไป มดเป็นแมลงตัวเล็กๆมันไม่สามารถกินอาหารมากกว่าขนาดตัวของพวกมันเองได้ เมื่อมดอิ่มมดจะหยุดกิน แต่บ่อยครั้งมดจะนำอาหารนี้ไปเก็บไว้ในรังมดไว้กินตอนอื่นๆ แล้วผลสุดท้ายกินไม่ทัน ทำให้เกิดเซื้อราขึ้นบนอาหาร รวมไปถึงของเหลวของอาหารที่เน่าเสียซึมลงไปในพื้นปูนทำให้ราขึ้นอาหารบนปูนไปอีก ย้ำอีกครั้ง อย่า ให้ อา หาร เยอะ ให้น้อยๆ แต่ให้บ่อยๆทุก 3 วันจะดีกว่าให้ครั้งละเยอะๆเพราะสุดท้ายมดกินไม่หมด

3.อุณหภูมิที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงมด ข้อห้ามสำคัญอย่างเด็ดขาดคือห้ามเลี้ยงมดในห้องที่มีอากาศร้อนอบอ้าว ห้ามรังมดโดนแดดส่องโดยตรง มดส่วนใหญ่จะออกหากินตอนกลางคืนซึ่งมีอากาศเย็นกว่า ส่วนกลางวันมดจะแอบอยู่ใต้ดินหรือในต้นไม้ อากาศไม่ควรจะสูงมากไปกว่า 31-32 องศา แต่มดไทยหลายชนิดอาจจะทนกับอากาศภายนอกที่ร้อนมากไปกว่า 31-33 องศา เพราะประเทศไทยร้อนแทบตลอดทั้งปีอยู่แล้ว แต่ก็ไม่มีอะไรยืนยันได้ว่ามดจะไม่ตาย มีรายงานว่ามดงานที่เลี้ยงไว้ในหลอดทดลองตายหลังจากอากาศภายนอกสูงขึ้นถึง 35 องศา อุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงมดในไทยน่าจะอยู่ราวๆ 28-29 องศา ขึ้นอยู่กับชนิดของมด ทางผู้ขายเลี้ยงมดทุกชนิดในอุณหภูมิราวๆ 28-29 องศา อากาศที่อบอุ่นจะทำให้มดเจริญเติบโตไวขึ้น อากาศที่ต่ำลงไปกว่า 25 องศาไม่ทำให้มดตาย แต่จะทำให้มดหยุดการเจริญเติบโตหรือเติบโตช้า

4.มดมักจะมีมุมทิ้งขยะมุมใดมุมหนึ่งของรัง ซึ่งมดจะใช้มุมนั้นในการทิ้งขยะตลอด เมื่อมีขยะถูกนำมาทิ้งเป็นจำนวนมากเช่นซากแมลงที่มดกินเหลือ ผู้เลี้ยงควรจะคีบซากแมลงเหล่านั้นทิ้ง เพื่อป้องกันการเกิดเชื้อรา หรือ มีปรสิตกินซากเกิดขึ้น

5.สามารถดูมดบ่อยๆได้ไหม? มดแต่ละชนิดมีความตื่นตัวต่อแสงและการสั่นสะเทือนไม่เท่ากัน บางชนิดสามารถเปิดไฟส่องแสงดูได้ตลอดเวลาโดยที่มดดูเหมือนจะไม่สนใจด้วยซ้ำ บางชนิดแค่สั่นนิดเดียวมดทั้งรังก็วิ่งออกมาดูนอกรังว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้นผู้เลี้ยงต้องลองหมั่นสังเกตุดูว่ามดของตัวเองเป็นมดประเภทไหน ซึ่งมดส่วนใหญ่เมื่อมีมดงานหลายตัวแล้วมักจะไม่ค่อยมีปัญหาเมื่อเราส่องไฟดูหรือหยิบขึ้นมาดู

 

ข้อเสียและข้อควรระวังเกี่ยวกับการเลี้ยงมดและการใช้งานรังมด Starter kit

ความสกปรก – อย่างหนึ่งที่ทุกคนควรจะเข้าใจคือ มดก็คือมด มันคือสัตว์ชนิดหนึ่งที่เป็นแมลง มดไม่ใช่สัตว์เลี้ยงที่เราสามารถฝึกสอนได้ มดไม่ใช่สัตว์ที่เลี้ยงแล้วรังของเค้าจะสะอาดตลอดไป มดสามารถขับถ่ายของเสียได้เหมือนสัตว์ทั่วๆไป มดอาจจะไม่ใช่สัตว์ที่สะอาด แต่เราสามารถทำความสะอาดรังมดบ่อยๆด้วยการนำขยะไปทิ้ง ไม่ให้อาหารมากเกินไปจนน้ำหวานหกหรือของเหลวจากอาหารหกลงสู่พื้นปูนทำให้เชื้อราขึ้นหรือเกิดความสกปรก

ความชื้น – ความชื่นในหลอดนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยปกติเพราะมดต้องการความชื้นในการดำรงชีวิต ความชื้นในหลอดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ แต่โดยปกติแล้วจะไม่มีไอน้ำเกาะตามผนังหลอด ไอน้ำที่เกาะบนผนังหลอดนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุเช่น ผู้เลี้ยงเติมน้ำมากและถี่เกินไป จนเกิดความชื้นในรังมากเกินไป, ผู้เลี้ยงนำมดไปเลี้ยงไว้ในห้องแอร์ทำให้เกิดความต่างระหว่างความชื้นในหลอด และความชื้นนอกตัวหลอด ทำให้ความชื้นในหลอดจับตัวกันเป็นไอน้ำขึ้นบนผนังหลอด และ สามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่อากาศรอบๆค่อนข้างชื้นและหนาวจะทำให้เกิดความชื้นในหลอดได้ จึงไม่แนะนำให้เลี้ยงมดในห้องแอร์ เนื่องจากจะเกิดไอน้ำขึ้นในหลอดและทำให้มดโตช้า แนะนำให้เลี้ยงมดในห้องอุณหภูมิปกติ ไม่แอร์ ไม่ร้อนอบอ้าว

ความชื้นในหลอดนี้เป็นเรื่องปกติ ถ้ามีไอน้ำเกิดขึ้นมากเกินไปจากสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ ผู้เลี้ยงสามารถใช้ไม้ขาวๆพันกับทิชชู่ค่อยๆเช็ดไอน้ำบนหลอดออก

เชื้อราที่เกิดขึ้นจากอาหารหรือการขับถ่ายของเสียของมด – มดคือแมลงชนิดหนึ่งที่ใช้ชีวิตโดยสัญชาติญาณของเค้าเอง เราไม่สามารถบังคับเค้าหรือฝึกเค้าเหมือนหมาได้ บ่อยครั้งที่เค้าจะไม่ยอมนำขยะออกมาทิ้งนอกรังหรือขับถ่ายของเสียภายในรังทำให้เกิดเชื้อราขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่สามารถเกิดขึ้นได้กับมดทุกชนิดและรังทุกรูปแบบ มักจะเกิดขึ้นกับรังมดที่ยังมีมดจำนวนน้อยแต่รังมีขนาดใหญ่ สิ่งต่างๆเหล่านี้จะค่อยๆหายไปเมื่อมีจำนวนมดงานเพิ่มมากขึ้น และเค้าเริ่มที่จะย้ายสถานที่ขับถ่ายหรือทิ้งขยะเป็นมุมใดมุมหนึ่งในกล่องoutworldแทน การทำความสะอาดสามารถทำความสะอาดได้ด้วยการนำไม้ขาวๆเกี่ยวออกมาหรือใช้ฟอร์เซปคีบออกมา จากนั้นทำความสะอาดพื้นผิวด้วยการนำทิชชู่มาพันไม้ขาวๆ แล้วถูทำความสะอาดพื้นผิวในหลอด

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทิ้งขยะหรือขับถ่ายของมด – หลังจากเราทำความสะอาดในหลอดปูนแล้ว เราสามารถพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมดด้วยการนำซากของเสียของมดมาทิ้งหรือแปะๆไว้ตรงมุมกล่องoutworldเพื่อให้มดเกิดการเรียนรู้และจดจำกลิ่นว่ามุมขยะของมดอยู่นอกรังมด

พฤติกรรมที่แตกต่างกันไปตามแต่ชนิดของมด – มดแต่ละชนิดหรือแม้กระทั่งมดแต่ละรังมักจะมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตและความต้องการที่แตกต่างกันไป ในภาพนี้คือมดตะลานดำอกส้ม ซึ่งเป็นมดที่มีแนวโน้มว่าอินดี้ ชอบความชื้นไม่มากนัก เราจึงพบว่ามดชนิดนี้มักอาศัยอยู่กลางหลอดหรือปลายหลอดมากกว่า ในภาพจะเห็นว่ามดชนิดนี้นำขยะไปทิ้งไว้และขับถ่ายด้านในจนเกิดเซื้อราขึ้น เราสามารถแก้ไขได้ด้วยการให้อาหารน้อยๆเพียงแค่มดกินหมดในแต่ละรอบ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้จะเป็นปกติมากขึ้นเมื่อมดมีจำนวนมดงานเพิ่มมากขึ้น

 

มดที่จมน้ำหรือจมน้ำหวานตาย – มีหลายครั้งที่เราได้รับรายงานมาว่ามดที่เลี้ยงไว้ไปจมน้ำตาย มักเกิดขึ้นกับมดรังเล็กๆเป็นส่วนใหญ่ บ่อยครั้งที่ผู้เลี้ยงพยายามเลี้ยงและดูแลเอาใจใส่มดตัวเองอย่างดีจนเกินไป พยายามให้อาหารเยอะๆ ให้อาหารทิ้งไว้ โดยที่ไม่ได้คิดว่า มดเป็นแมลงตัวเล็กๆ ไม่สามารถกินอาหารจำนวนมากกว่าขนาดตัวของมันเองได้ เมื่อเหล่ามดกินอิ่มแล้วจะไม่กินอีก บ่อยครั้งน้ำหวานที่ถูกวางทิ้งไว้เมื่อผ่านไป 1-3 วันน้ำในน้ำหวานจะระเหยออก เหลือแต่น้ำหวานเหนียวหนืด ทำให้มดเดินไปสำรวจแล้วขาจมน้ำหวานหรือจมน้ำ เมื่อดิ้นจึงโดนน้ำดูดจมไปทั้งตัว และตายอยู่ในถ้วยน้ำหวาน เราจึงมักจะแนะนำว่าให้น้ำหวานแค่ 1-2 หยดเพียงพอต่อมดรังเล็กๆกินหมดเท่านั้น หลังจากนั้นนำน้ำหวานออกเมื่อมดกินเสร็จ อีก 3 วันค่อยให้ใหม่ ไม่ต้องกลัวมดจะอดตาย มดถึกกว่าที่เราคิดเยอะมากๆ

 

ผู้เลี้ยงให้อาหารหรือน้ำหวานมากเกินไป – ผลเสียจากการให้อาหารหรือน้ำหวานมากเกินไป นอกจากมดจะกินไม่หมด เอาไปเก็บไว้ในรังจนราขึ้นแล้ว มีมดหลายชนิดที่พยายามจะนำทรายมาถมน้ำหวานที่มดกินไม่หมด อาจจะด้วยสัญชาตญาณการกลัวจมน้ำของมดหรืออะไรไม่ทราบ เมื่อมดมีพฤติกรรมการถมทรายใส่น้ำหรือน้ำหวานนี้ จะทำให้น้ำหวานไหลตามทรายและสุดท้ายไหลลงรังได้ มันจะสกปรกและอาจจะทำให้เกิดเชื้อราขึ้นภายหลัง จึงมักจะย้ำอยู่ทุกครั้งว่า อย่าให้อาหารมากจนเกินไป น้ำหวาน 2-3 หยดเพียงแค่มดกินหมดในแต่ละรอบก็พอแล้ว

 

ปัญหามดบ้านบุกมดที่เราเลี้ยงเอาไว้ – เหล่ามดบ้านเช่นมดละเอียดหรือมดเหม็นตัวเล็กๆทั้งหลาย มันไม่ได้ตั้งใจที่จะยกขบวนมาบุกมดที่เราเลี้ยงโดยตรง ความจริงแล้วมันตามกลิ่นน้ำหวานมาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งรังมดถึงแม้จะออกแบบและทำมาดีมากเพียงไหน ถ้ามีรูเล็กๆแม้เพียงรูเดียวที่มดจิ๋วสามารถรอดเข้ามาได้ ก็สามารถถูกมดพวกนี้บุกได้ เพราะมดที่มาบุกนี้ตัวมันเล็กมากๆ และมันค่อนข้างเป็นมดที่ดุร้าย ทำให้มดที่เราเลี้ยงเอาไว้ไม่สามารถสู้มดพวกนี้ได้เลย มดที่เราเลี้ยงไว้จะถูกมดบ้านจำนวนมากรุมฆ่าตาย ถ้าเกิดเดินมาเห็นทันก็อาจจะช่วยได้ทัน แต่ถ้ามันมาบุกตอนกลางคืน เราไม่สามารถช่วยเหลืออะไรมดของเราได้เลย เพราะฉะนั้นจึงสำคัญมากๆ ที่จะให้น้ำหวานมดเพียงแค่มดกินหมด เมื่อมดกินหมดให้เอาน้ำหวานออก อีก 3 วันค่อยให้ใหม่ มดยังรังเล็กมดไม่กินเยอะ ก็จะเป็นการป้องกันมดนอกให้มาบุกมดที่เราเลี้ยงไว้อยู่ได้ ถ้าไม่ไหวจริงๆหรือมดบ้านมีเยอะจริงๆ ให้หายาหยอดฆ่ามดมาหยอดให้มดบ้านกินเพื่อกำจัดทิ้ง

 

เมื่อเลี้ยงมดไปเรื่อยๆ – คนเลี้ยงควรคิดและตระหนักอย่างหนึ่ง มดเมื่อเราเลี้ยง มันจะเพิ่มจำนวนมดงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มดหลายชนิดจะมีขนาดตัวที่ใหญ่ขึ้น และ จะมีมดทหารที่ตัวใหญ่เท่านางพญามดด้วย เราอาจจะเริ่มเลี้ยงมดที่มีมดงานเพียงแค่ 10 ตัว แต่ในอีก 2 เดือนมันอาจจะมีมดงาน 20 ตัว อีก 5 เดือนเพิ่มเป็น 50 ตัว อีก 1 ปี เพิ่มเป็น 100-200 ตัว อีก 5 ปีอาจจะมีมดงานหลายพันตัว คนที่จะเลี้ยงมดต้องตระหนักถึงจุดนี้ ว่าเมื่อมดมันเพิ่มจำนวนมากขึ้น คุณต้องหารังมดที่มีขนาดใหญ่มากขึ้นมาใส่มดที่คุณเลี้ยงถ้าคุณต้องการเลี้ยงมดนี้ต่อไป ซึ่งคุณสามารถทำให้ประชากรมดมันมีเยอะมากๆ หรือคุมประชากรมดไม่ให้โตมากจนเกินไปด้วยการให้อาหารที่มากขึ้น ถี่ขึ้น หรือ น้อยลง และเว้นระยะการให้อารหารให้มากขึ้น สามารถอ่านบนความนี้ได้จากหัวข้อด้านบน “การดูแลมดและให้อาหารมด”

คุณไม่สามารถปล่อยมดที่คุณเลี้ยงไปสู่ธรรมชาติได้ – สถานที่แต่ละที่มีมดเจ้าถิ่นหมด การที่เรานำมดแปลกถิ่นไปปล่อยในสถานที่ใดก็ตามอาจจะเป็นการบิดเบือนวงจรชีวิตหรือวิถีชีวิตของสัตว์ตัวเล็กๆในพื้นที่นั้นๆได้ หรือแม้แต่สามารถทำให้มดท้องถิ่นในพื้นที่นั้นๆสูญพันธุ์ไปได้เลยทีเดียว ไม่ว่าจะกรณีไหนก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดสิ่งไม่ดีขึ้นทั้งนั้น จึงไม่ควรมากๆที่จะปล่อยมดที่เลี้ยงสู่ธรรมชาติ ไม่เลี้ยงแล้วก็ทักมา พร้อมจะเลี้ยงต่อให้หรือนำไปส่งต่อให้คนที่อยากจะเลี้ยง

อยู่ดีๆมดที่เลี้ยงก็ตาย – มดก็คือสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งบนโลกใบนี้ จริงอยู่ที่นางพญามดสามารถมีอายุยืนยาวได้ถึง 20-30 ปี ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมแต่ก็ไม่ใช่นางพญามดทุกตัวที่จะมีอายุยืนยาวได้ขนาดนั้น นางพญามดบางตัวอาจจะมียีนที่ไม่ดี เป็นโรคอะไรสักอย่าง มีอายุสั้น นางพญามดบางตัววันนี้ดูดีมากๆออกไข่ปกติ พรุ้งนี้เช้านอนตายก็เกิดขึ้นได้บ่อยๆ ซึ่งเรื่องพวกนี้เราไม่สามารถกำหนดได้ และเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่านางพญามดตัวไหนจะมีอายุยืนยาวได้ขนาดไหน แต่ถ้าเลี้ยงเค้าอย่างถูกต้องและเหมาะสม ก็มีความเป็นไปได้มากๆที่นางพญามดหนึ่งตัวสามารถมีอายุยืนยาวได้หลายปี หรืออาจจะถึง 10 ปี ซึ่งนางพญามดที่ตัวแอดมินเลี้ยงไว้ก็มีหลายรังแล้วที่มีอายุ 3-4 ปี และมีแนวโน้มที่จะอยู่ได้อีกหลายปี

เช่นเดียวกับมดงาน มดงานหลายชนิดสามารถมีอายุยืนยาวได้หลายเดือนหรือถึงปี แต่ก็มีมดงานหลายตัวที่อยู่ดีๆก็ตายภายใน 1-2 วัน หรือ 2 อาทิตย์ สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติทางธรรมชาติ(ถ้าผู้เลี้ยงไม่ได้ทำอะไรผิดพลาดไป) จึงไม่ควรจะคิดมาก ให้ดูภาพรวมของมดในรังเช่น มดที่เราเลี้ยงนางพญายังออกไข่ ยังมีตัวอ่อน ยังมีดักแด้ที่จะเกิดขึ้นเป็นมดงานตัวใหม่ในอนาคต

รัง Starter kit นี้ทำจากกล่องอะคริลิค – จึงเกิดรอยขนแมวขึ้นง่ายมากๆ และไม่ควรจะวางซ้อนกันหรือเอาอะไรมาวาง ขูดขีดบนกล่อง

รังมดนี้ถ้าตั้งไว้เฉยๆ ราไม่ขึ้นปูนและทรายในหลอดแน่นอน – เพราะผลิตภัณฑ์ของเราป้องกันรา แต่ในกรณีที่เลี้ยงมด จะเกิดการขับถ่ายของเสีย หรือ ของเหลวจากอาหารต่างๆที่มดกิน ซึ่งสามารถเปื้อนบนพื้นผิว หรือ ซึมลงไปในปูน อันนี้มีโอกาสเกิดเชื้อราขึ้นแน่นอน เป็นเรื่องปกติครับ สามารถทำความสะอาดได้ด้วยการนำทิชชู่เช็ดในส่วนของ outworld หรือ ใช้อุปกรณ์ที่เราแถมไปให้ทำความสะอาดด้านในหลอด

จึงสำคัญมากๆในการให้อาหารน้อยๆเพียงแค่มดกินหมด ให้อาหารในภาชนะที่จัดเตรียมไว้ให้ เพื่อที่มันจะได้ไม่หกสกปรก และสามารถนำมาใช้งานใหม่ได้เรื่อย

 

การรับประกันของเรา

1.เรารับประกันในกรณีที่รังมดเกิดความเสียหายแตกหักเนื่องจากการขนส่ง เราส่งรังใหม่ให้ฟรีโดยไม่มีค่าใช่จ่าย

2.ในกรณีที่รังมีรอยขนแมวหรือรอยกาวนิดหน่อยเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ถ้าผู้ซื้อได้สินค้าแล้วรับกับสภาพไม่ได้เรายินดีที่จะพูดคุยเพื่อหาทางออกขอให้ทักเข้ามาคุยกับเราในเพจ “คนเลี้ยงมด : Ant Keeping Thailand” ได้โดยตรง

3.ในกรณีที่มดตายจากการขนส่ง เรายินดีส่งมดให้คุณใหม่ฟรี 1 รังโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

4.ในกรณีที่นางพญามดตายภายใน 15 วัน(แต่มดงานส่วนใหญ่ไม่ตาย) ตายโดยธรรมชาติ ตายโดยหาสาเหตุไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เรายินดีส่งมดรังใหม่ให้โดยที่ผู้ซื้อออกค่าขนส่ง

5.ทุกคำถามเกี่ยวกับมดและการเลี้ยงมดที่คุณอยากรู้หรือไม่เข้าใจ สามารถสอบถามกับเราได้โดยตรงตลอดเวลาผ่านทางเพจ “คนเลี้ยงมด : Ant Keeping Thailand” เรายินดีให้คำปรึกษาเกี่ยวกับมดที่คุณซื้อจากเราไปเลี้ยง เพื่อให้คุณเลี้ยงมดรอดและเลี้ยงอย่างเข้าใจ มีความสุขกับการเลี้ยงมด

6.เรายินดีเปิดใจกับทุกคำแนะนำ ยอมรับและแก้ไขกับทุกปัญหาที่เกิดขึ้นกับผลิตภัณฑ์หรือมดของเราเพื่อให้คุณพึงพอใจ ขอเพียงคุณเข้ามาคุยกับเราโดยตรง

ขอบคุณครับ

 

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart

ไม่มีสินค้าในตะกร้า