การผสมพันธุ์ของมด, การกำหนดเพศของมด มดตัวผู้-มดตัวเมีย, ทำไมมดตัวผู้ถึงตายหลังจากผสมพันธุ์

การผสมพันธุ์ของมด, การกำหนดเพศของมด มดตัวผู้-มดตัวเมีย, ทำไมมดตัวผู้ถึงตายหลังจากผสมพันธุ์

หลายๆคนอาจจะโชคดีเจอนางพญามดในจังหวะที่มันกำลังผสมพันธุ์กันอยู่พอดี เอาเป็นว่าโชคดีกว่าผมละกันเพราะผมยังไม่เคยเห็นกับตาตัวเองสักที

การกำหนดเพศของมด มดทุกตัวที่เราเห็นล้วนเป็นมดตัวเมีย ไม่ว่าจะเป็นนางพญา มดงาน มดทหาร มีเพียงมดตัวผู้ที่เกิดขึ้นมาเพื่อผสมพันธุ์แล้วตายเท่านั้นเป็นมดตัวผู้ Haplodiploidy คือระบบการกำหนดเพศของแมลงจำพวก ผึ้ง มด ต่อ-แตน รวมไปถึงแมลงชนิดอื่นๆบางส่วน ในที่นี้เราจะพูดถึง มด ไข่ที่เกิดจากนางพญามดสามารถพัฒนาไปได้ทั้งมดตัวผู้และมดตัวเมียขึ้นอยู่กับว่าไข่ได้รับการผสมกับสเปิร์มหรือไม่ เช่น เมื่อไข่ยังไม่ได้ผสมกับสเปิร์มจะถูกเรียกว่า Haploid และไข่นั้นจะพัฒนาเป็นมดตัวผู้  ส่วนไข่ที่ผสมกับสเปิร์มจะถูกเรียกว่า Diploid และไข่นั้นจะพัฒนาเป็นมดตัวเมีย

สรุปอธิบายง่ายๆอีกรอบก็คือ ไข่ที่เกิดเป็นมดตัวผู้เกิดจากไข่ที่ยังไม่ได้ผสมกับสเปิร์มเป็นมดตัวผู้ที่เกิดจากแม่แต่ไม่มีพ่อ ส่วนไข่ที่เกิดเป็นมดงานหรือนางพญามดคือไข่ที่ผสมกับสเปิร์มแล้วเป็นมดที่เกิดมาจากทั้งพ่อและแม่ นี่จึงเป็นเหตุผลที่มดตัวเมียที่ยังไม่ได้ผสมพันธุ์จะออกไข่เป็นมดตัวผู้ เพราะนางพญามดสามารถผลิตไข่ออกมาเป็นมดตัวผู้ได้ด้วยตัวของมันเองอยู่แล้ว

ส่วนการกำหนดเพศของมนุษย์เกิดจากการปฏิสนธิรวมกันของสเปิร์มจากฝ่ายชายและไข่จากฝ่ายหญิง คือ

ไข่ของแม่เป็น X ส่วนสเปิร์มของพ่อมีทั้ง X และ Y

ถ้าสเปิร์ม X เจาะไข่ได้ก่อนจะเป็น XX ลูกออกมาเป็นเพศหญิง

ถ้าสเปิร์ม Y เจาะไข่ได้ก่อนจะเป็น XY ลูกออกมาเป็นเพศชาย

ทำไมมดตัวผู้ถึงตายหลังจากผสมพันธุ์?

มดตัวผู้นั้นมีอายุขัยสั้นมากๆ มันถูกกำหนดมาแล้วโดยธรรมชาติว่าต้องตาย ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ผสมพันธุ์ก็จะตายไปเองภายในไม่กี่วันหลังจากออกบินจากรัง หน้าที่เดียวของมดตัวผู้ที่เกิดขึ้นมาบนโลกนี้คือ แบกสเปิร์มเต็มท้องบินออกจากรังหานางพญาให้เจอ หาเจอแล้วปล่อยสเปิร์มทั้งหมดไปสู่อวัยวะเก็บสเปิร์มของนางพญา แล้วก็ตาย มดตัวผู้บางชนิดอาจจะตายจากการผสมพันธุ์เพราะว่าอวัยวะภายในของมันถูกทำลายจากการผสมพันธุ์ เปรียบเสมือนกับผึ้งที่ตายลงหลังจากแทงเหล็กในออกมาติดผิวหนังของเรา ทั้งหมดนี่คือการทำหน้าที่ที่สมบูรณ์แบบที่สุดของมดตัวผู้หนึ่งตัวที่กำเนิดขึ้นมาบนโลกใบนี้

มดตัวผู้นั้นมีชีวิตที่น่าสงสารตั่งแต่เกิดออกมาจากดักแด้ มันถูกเลือกปฎิบัติโดยมดงานในรัง มดงานในรังเลือกที่จะป้อนอาหารให้นางพญามดเกิดใหม่มากกว่าที่จะป้อนให้มดตัวผู้ที่มีหน้าที่ผสมพันธุ์แล้วก็ตาย ต่างจากนางพญาที่ต้องการอาหารสะสมไว้เพื่อเริ่มสร้างอาณาจักรใหม่ของตัวมันเอง

ต่อให้มันรอดก็ไม่มีมดตัวไหนที่จะเลี้ยงมดตัวผู้เอาไว้ มดทุกตัวทุกวรรณะนั้นมีหน้าที่ของมันที่มีประโยชน์ต่อรัง มดที่ไม่มีประโยชน์เช่น มดที่เกิดมาแล้วพิการจะถูกมดในรังรุมกินทั้งเป็นหลังจากออกมาจากดักแด้ได้ไม่นาน

เหตุที่มดตัวผู้มีจำนวนมหาศาลมากกว่ามดนางพญา เป็นเพราะว่ามดตัวผู้ไม่จำเป็นต้องเลี้ยงดูมากนัก ต่างจากนางพญาที่ต้องเลี้ยงดูอย่างดี รวมถึงนางพญาหนึ่งตัวจะผสมพันธุ์เพียงแค่หนึ่งครั้งในชีวิตและสามารถผสมพันธุ์กับมดตัวผู้ได้หลายตัว เพื่อรวบรวมเก็บน้ำเชื้อให้ได้มากที่สุด

การผสมพันธุ์ของมดอาจจะเกิดขึ้นได้ทั้งตอนกลางคืนและตอนเช้า ขึ้นอยู่กับชนิดของมดแต่ละสายพันธุ์และความเหมาะสมของสภาพอากาศ สภาพพื่นดิน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มดจะตัดสินใจเอาเองด้วยสัญชาติญาณของมด มดชนิดเดียวกันในระแวกเดียวกันมักจะออกบินพร้อมๆกันทั้งหมด ตัวผู้และตัวเมียมักจะผสมพันธุ์กันข้ามรัง

นางพญามดจะปล่อยฟิโรโมนออกมาเพื่อบอกตำแหน่งของตัวเองให้ตัวผู้รับรู้ การผสมพันธุ์สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งบนอากาศและบนพื้น นางพญาหนึ่งตัวสามารถผสมพันธุ์กับตัวผู้ได้หลายตัวเพื่อรวบรวมน้ำเชื้อให้ได้มากที่สุด น้ำเชื้อจากการผสมพันธุ์ครั้งเดียวนี้สามารถเก็บไว้ใช้ตลอดชีวิตของนางพญามดได้ถึง 20-30 ปี เลยทีเดียว

หลังจากผสมพันธุ์เสร็จแล้วนางพญาจะบินหาสถานที่เหมาะสมเพื่อสร้างรังของตนเอง จึงไม่มีเหตุผลอะไรใดๆที่จะเก็บปีกเอาไว้เนื่องจากทั้งชีวิตมันต่อจากนี้จะใช้ชีวิตอยู่ใต้ดิน มีหน้าที่แค่วางไข่เท่านั้น จึงเป็นเหตุผลที่ เมื่อมดสลัดปีกออกเราสามารถมั่นใจระดับหนึ่งว่ามดผสมพันธุ์เรียบร้อยแล้ว เมื่อมดพบสถานที่ทำรังเหมาะสมแล้ว เวลาผ่านไปไม่กี่วันมดจะเริ่มวางไข่เพื่อสร้างอาณาจักรต่อไป

ถุงเก็บน้ำเชื้อ

อ่านได้จาก Facebook  : คนเลี้ยงมด : Ant Keeping Thailand

** เขียนได้ไม่จบ ตอนแรกว่าจะเขียนเล่นๆไม่นึกว่าจะใช้เวลานาน แล้วต้องรีบนอนเพราะพรุ้งนี้ต้องไปเที่ยวแต่เช้า เอาเท่าที่ได้ละกัน ???? เสียใจ

Credit ภาพ Alex Wild

Start typing and press Enter to search

Shopping Cart

ไม่มีสินค้าในตะกร้า